วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการขุดลอกคลองบางเก่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

          เมื่อวัน ที่ 2 ตุลาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดําริ ให้ขุดลอกร่องน้ำคลองบางเก่าเพื่อเลี้ยงปลาน้ำกร่อย   กรมชลประทานได้ดําเนินการขุดลอกแล้วเสร็จในปี 2535 และเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดําเนิน   ทอดพระเนตรการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง ของราษฎรที่คลองบางเก่า ที่กรมชลประทานได้ขุดลอกไว้แล้ว ที่บ้านบางเก่าเหนือ ตําบลบางเก่า  บ้านบางตะโล๊ะ ตําบลปะเสยะวอ อําเภอสายบุรี จังหวัดปีตตานี ราษฎรได้ถวายฎีกาต้องการที่จะขยายความกว้างของคลองบางเก่า จากเดิมที่ขุดลอกไว้ ก้นกว้าง 10.00 เมตร ให้ขยายเต็มพื้นที่ของคลอง ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดําริ ให้กรมชลประทานประสานกับกรมประมง คอยดูแลรักษาคลองอย่างใกล้ชิด ตลอดทุกฤดูกาล และให้ทําการพิจารณาสร้างอาคารระบายน้ำ - รับน้ำเดิม เพื่อใหน้ำทะเลเชื่อมกับคลองบางเก่าโดยตรง ห่างกันเป็นระยะ ๆ เพื่อการปรับสภาพน้ำในคลองบางเก่า ให้เหมาะสมโดยเร็ว



วัตถุประสงค์
       - เพื่อให้มีการถ่ายเทของน้ำและการระบายน้ำได้ดีขึ้น

       - เพื่อช่วยเหลือให้ราษฎรมีพื้นที่เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังเพิ่มมากขึ้น
       - เพื่อส่งเสริมและขยายการเลี้ยงปลาน้ำกร่อยชนิดต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็ก และใหญ่


ประโยชน์ที่ได้รับ

       ประชาชนในเขตบ้านบางเก่าเหนือ ตําบลบางเก่า และบ้านบางตะโล๊ะ ตําบลปะเสยะวอได้รับประโยชน์ดังนี้
       - ทําให้การถ่ายเทของน้ำและการระบายน้ำดีขึ้น
       - ราษฎรมีพื้นที่การเลี้ยงปลาในกระชังมากขึ้น
       - ส่งเสริมการเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาทั้งปลาเล็ก - ปลาใหญ่มากขึ้น
       - ทําให้เรือประมงขนาดเล็กวิ่งผ่านได้สะดวก


ที่มา 
http://www.rid.go.th/royalproject/index.php?option=com_content&view=article&id=312:2009-06-09-08-20-38&catid=68:2009-05-04-07-30-23&Itemid=9

วันที่สืบค้น  21 ม.ค.53  เวลา 12.11 น.

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โรงนมสวนจิตรลดา


โรงนมผงสวนดุสิต
        การตั้งโรงนมผงสวนดุสิต เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะนมสดล้นตลาดเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงโคนม ที่ไม่สามารถจำหน่ายนมสดที่ผลิตได้ มีนมสดเหลืออยู่มากเกินความต้องการของตลาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการช่วยเหลือ โดยพระราชทานเงินทดรองจ่าย รวมกับรายได้จากการจำหน่ายนมสด สร้างโรงงานผลิตนมผงขนาดย่อมขึ้นภายในสวนจิตรลดา เพื่อผลิตนมผงจากนมสดที่รับซื้อจากสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม เป็นการแก้ปัญหานมสดล้นตลาดส่วนหนึ่ง

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงาน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2512 และพระราชทานชื่อว่า "โรงนมผงสวนดุสิต"  โรงนมผงได้ทำการทดลอง ปรับปรุง แก้ไข ระบบต่างๆ ของกระบวนการผลิต เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการผลิต โดยแปรสภาพนมสดให้เป็นนมผงที่มีคุณภาพดี รักษาคุณค่าทางอาหารให้มากที่สุด บริสุทธิ์และได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษานำไปเป็นแบบอย่าง ให้สามารถดำเนินการแบบธุรกิจได้ จึงได้มีโครงการปรับปรุงระบบการผลิต ก่อสร้าง และพัฒนาโรงนมผงขึ้นใหม่ตามลำดับดังนี้

2524-2525

     ได้ดำเนินการปรับปรุง และก่อสร้างโรงนมผงขึ้นใหม่ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและสวิตซ์ไฟฟ้า ควบคุมโรงงานโดยใช้งบประมาณโรงนมผง สวนดุสิตที่มีอยู่ส่วนหนึ่ง และอุปกรณ์จากผู้ที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสำหรับการก่อสร้าง


2529-2530


      ด้วยเหตุที่โครงการส่วนพระองค์ฯ ได้เปิดโรงนมอัดเม็ดขึ้นและกำลังเป็นที่นิยม โรงนมผงจำเป็นต้องเพิ่มการผลิต จึงได้สั่งซื้ออุปกรณ์ใหม่ เพื่อทดแทนอุปกรณ์ที่ใกล้เสื่อมสภาพ และปรับปรุงระบบการระเหย ให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น

       1. ติดตั้งเครื่องโฮโมจิไนส์ 1 เครื่อง ขนาด 100 ลิตร/ชั่วโมง กำลังอัดขณะใช้งาน 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว มอเตอร์สามารถปรับรอบได้ตาม ความต้องการใช้งาน
       2. ปรับปรุงระบบการระเหย โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาวิเคราะห์เพื่อดำเนินการออกแบบเพื่อแก้ไข ดัดแปลงปรับปรุงระบบการระเหยนมซึ่งสรุปได้ 2 วิธีคือ
           - แก้ไขดัดแปลงเครื่องระบบเดิมให้มีกำลังผลิตขึ้นประมาณ 2 เท่า (177.76 ก.ก./ชั่วโมง)
           - ก่อสร้างโรงระเหยนมใหม่ทั้งหมด ใช้ระบบระเหยเป็นแบบ TUBULAR FALLING - FILM ชนิด DOUBLE EFFECTS ให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ประมาณ 3 เท่า (220-250 ก.ก./ชั่วโมง)
       จากการคำนวณและประเมินค่าใช้จ่าย โดยพิจารณากำหนดรายการอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ของทั้ง 2 วิธีแล้ว โครงการส่วนพระองค์ฯ ได้ตัดสินใจปรับปรุงโรงระเหยใหม่ทั้งหมดเป็นแบบ TUBULAR FALLING - FILM ชนิด DOUBLE EFFECTS มีเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย คอยติดตามดูแลและคุมงาน


2532


รัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องมือและอุปกรณ์ ดังนี้
      1. เครื่องอัดลม Stenhoej type KA 112 c จำนวน 1 เครื่อง กำลังผลิต 720 ลิตร / นาที กำลังอัดสูงสุด 10 Bar
      2. เครื่องระเหยนม APV Anhydro type compact จำนวน 1 ชุด อัตราการระเหย 125 ก.ก./ชั่วโมง
      3. เครื่องพ่นนมผง APV type compact จำนวน 1 ชุด อัตราการผลิต 5 ก.ก./ชั่วโมง
      4. เครื่องพ่นนมผง สำหรับการทดลอง APV Anhydro bab mini จำนวน 1 ชุด อัตราการผลิต 2 ก.ก./ชั่วโมง
      5. เครื่องบรรจุนมผง JH Pakkesystemer type GV - 20 จำนวน 1 ชุด อัตราการผลิต 30 ชิ้น/นาที

ที่มา  http://www.scc.ac.th/student_web/2_47/project008/milk_3.html
 วันที่สืบค้น 21 ม.ค.53 เวลา 11.55 น.

โรงบดแกลบ




     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้นำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดามาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงดิน และนำมาเป็นเชื้อเพลิงแท่งซึ่งเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ และในปี พ.ศ. 2518 จึงเป็นปีที่เริ่มโครงการจัดสร้างโรงบดแกลบ โดยมอบหมายงานให้กับงานช่าง สำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการสร้างพร้อมจัดซื้อวัสดุต่างๆ สำหรับก่อสร้างในแบบที่ประหยัดโดยใช้สิ่งของเก่าที่มีอยู่นำมาใช้สร้างอาคาร นอกจากจะนำแกลบมาผลิตเป็นถ่านแล้ว แกลบที่ได้จากโรงสีข้าวตัวอย่างจิตรลดายังสามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์สูตรต่างๆ


การเผาแกลบที่อัดแล้วเป็นถ่าน

            เนื่องจากแกลบที่อัดแล้วไม่สามารถรักษาสภาพให้เป็นแท่งอยู่ได้ เมื่อถูกน้ำ หรือน้ำฝนจะแปรสภาพเป็นแกลบบดเช่นเดิม แต่เมื่อนำแกลบที่อัดแล้วไปเผาให้เป็นถ่าน จะสามารถคงสภาพตามรูปที่อัดได้
           พ.ศ. ๒๕๓๐ บริษัท อุสาพัฒนาเศรษฐกิจ จำกัด ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เตาเผาถ่าน ขนาด ๒ ตัน มูลค่า ๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท และทางโครงการได้จัดสร้างโรง สำหรับเก็บเตาเผาถ่าน และเก็บถ่าน เป็นเงิน ๒๑,๓๗๒.๐๐ บาท ดำเนินการนำเอาแกลบอัดจากโรงบดแกลบมาเผาเป็นถ่าน เพื่อสะดวกในการใช้คือ ไม่มีควัน แกลบที่นำมาเผาเป็น ถ่านแล้วพบว่าน้ำหนักแกลบอัดจะหายไป ๗๐% ถ่านที่ได้จากแกลบมีค่าพลังงานความร้อนพอ สมควรแต่ความร้อนน้อยกว่าถ่านที่ทำจากไม้ทางโครงการฯ ได้บรรจุถ่านใส่ถุงออกจำหน่ายถุงละ ๒ กิโลกรัม ราคา ๘.๐๐ บาท นอกจากนี้ยังศึกษาถึงการอัดแกลบชนิดแน่นและไม่แน่น นำไปเผาถ่าน ผลวิเคราะห์ค่าความร้อนทั้งสองชนิดเท่ากัน ความหนาแน่นไม่เท่ากัน ทำให้ระยะเวลาใช้งานไม่เท่ากัน ถ่านที่ทำจากแกลบอัดชนิดแน่นจะใช้ได้นานกว่า
          พ.ศ. ๒๕๓๒ ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ ได้มอบนโยบายให้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ เพิ่มประสิทธิภาพจากเดิม เดือนละ ๕ - ๖ ตัน ให้สามารถ จัดส่งค่ายผู้อพยพสหประชาชาติ เดือนละ ๑๐ ตัน ได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพ และการจัดการจนจัดส่งได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ได้ย้ายไซโลเหล็กที่เดิมใช้เก็บข้าวสารนำมา ใช้ข้างโรงอัดแกลบ ใช้สำหรับเก็บแกลบดิบจากโรงสี ซึ่งแต่เดิมไม่มีที่เก็บและมีฝุ่นฟุ้งกระจาย มาก ทำให้ลดปัญหาที่เกิดขึ้น
          พ.ศ. ๒๕๓๓ โรงบดและอัดแกลบ ได้ทำการพัฒนาปรับปรุงการทำงาน จนปัจจุบันเครื่องอัดแกลบเครื่องหนึ่ง สามารถอัดแกลบแท่งได้ประมาณวันละ ๕๐๐ ก.ก. ถ้าทำเต็มที่ ๒ เครื่อง ได้วันละ ๑,๐๐๐ ก.ก. ส่วนเกลียวอัดราคาอันละ ๒,๕๐๐.๐๐ บาท สามารถที่จะทำการซ่อมแซมโดยการพอกเกลียวใหม่ได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายในด้านนี้ ๐.๑๖ บาท ต่อแกลบอัดแท่ง ๑ ก.ก.
          พ.ศ. ๒๕๓๔ เนื่องจากมีแกลบเหลือจากโรงสีข้าวส่วนพระองค์ เป็นจำนวนมากกว่าที่จะนำมาทำแกลบอัดแท่งได้ทัน โรงบดและอัดแกลบ จึงนำแกลบส่วนที่เหลือ มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์สูตรต่าง ๆ
          พ.ศ. ๒๕๓๖ นำแกลบอัดแท่งมาเผาเป็นถ่าน และหั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ หนาท่อนละประมาณ ๑ นิ้ว บรรจุถุงเพื่อสะดวกในการใช้งานยิ่งขึ้น
          พ.ศ. ๒๕๓๗ สร้างเตาเผาถ่านเพิ่มขึ้นอีก ๒ เตา โดยความร่วมมือ ของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
          พ.ศ. ๒๕๓๘ ปรับปรุงห้องเก็บแกลบอัดแท่ง เพื่อสามารถเก็บแกลบ อัดแท่งและถ่านที่ผลิตมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการสร้างเตาเผาถ่านเพิ่มขึ้นอีก ๔ เตา โดยได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยก่อสร้าง
           จะเห็นได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ให้ความสนใจในเรื่องถ่านอัดแท่ง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้มีค่ามากที่สุด พวกเราควรภูมใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการที่เราร่วมมือการใช้ทรัพยากรของเราอย่างมีคุณค่า

ที่มา  http://charcoal.snmcenter.com/charcoalthai/manufacter%20husk.php
สืบค้นวันที่ 21 ม.ค.53 เวลา 09.30 น.

ในหลวงกับงานสื่อสารมวลชน



           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้สถานีวิทยุให้เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วประเทศ เมื่อเริ่มตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ใหม่ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปรับเครื่องส่งวิทยุเอง ทรงจัดรายการและทรงเปิดแผ่นเสียงเอง ทรงบันทึกเสียงรายการวงดนตรีของ นักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอด วงดนตรีไทย วงข้าราชบริพาร เป็นต้น โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชนมาบรรยายเพื่อเป็นวิทยาทาน
            ส่วนวงดนตรีไทยและวงดนตรีของทางราชการ เช่น วงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์ วงดนตรีกรมศิลปากร กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ โรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้มาบรรเลงที่ห้องส่งของสถานีวิทยุ อ.ส. และในรายการ ดนตรีสำหรับประชาชนที่เวทีสวนอัมพรในวันพุธบ่าย และวันอาทิตย์เช้าถึงเที่ยง ตั้งแต่ยังไม่มีโทรทัศน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาเห็นว่า นักเรียนต้องคร่ำเคร่งกับการเรียนตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ สมควรจะได้มีการพักผ่อนระหว่างอาทิตย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิตจัดรายการดนตรีขึ้นในวันพุธบ่าย สามารถลดการนัดชุมนุมของนักเรียนที่ตีกันระหว่างโรงเรียนลงมาได้อย่างมาก นับว่าได้ผลอย่างยิ่ง เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศ สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ก็ร่วมกับสถานีวิทยุ จ.ส. กรมการทหารสื่อสาร ถ่ายทอดการเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง ทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้ยินได้ฟังพระสุรเสียงที่ได้พระราชทานแก่ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ด้วย
            ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เกิดโรคโปลิโอระบาด ภาษาไทยเรียกว่า ไข้ไขสันหลังอักเสบ พอเป็นแล้วจะมีอาการหายใจไม่ออก ต้องใช้ปอดเหล็กช่วย ต้องมาฟื้นฟูอวัยวะต่างๆ ต้องใช้เครื่องพยุงออกกำลังกล้ามเนื้อด้วยการว่ายน้ำและลงอ่างอาบน้ำอุ่น เพื่อใช้ความแรงของน้ำกระตุ้นกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้นด้วย
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสถานที่ฟื้นฟูบำบัด โรคโปลิโอ พระราชทานพระนามของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ว่า ตึกวชิราลงกรณ์ธาราบำบัด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต เชิญชวนประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศล หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำบุญร่วมกับในหลวง ประชาชนก็หลั่งไหลนำเงินมาทูลเกล้าฯ ถวายมากมายเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาจนโรคนั้นหายไป

ที่มา  http://www.princess-it.org/kp9/hmk-IT/hmk-masscomm.th.html
สืบค้น  วันที่ 2 ก.พ.53 เวลา 17.05

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการ "แก้มลิง"



โครงการ "แก้มลิง"

             ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood Management)
             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ไว้ 5 แนวทาง คือ ประการแรก สร้างคันกั้นน้ำ โดยปรับปรุงแนวถนนเดิมประการที่สอง จัดให้มีพื้นที่สีเขียว (Green Belt) ตามพระราชดำริ เพื่อกันการขยายตัวของเมือง และเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อมีน้ำหลาก ประการที่สาม ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิมและขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ ประการที่สี่ สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่าง ๆ ประการที่ห้า ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง


วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภูมิภาคต่าง ๆ คือ


              1. การก่อสร้างคันกันน้ำ โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนานไปตามลำน้ำเพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ด้านใน

              2. การก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมล้นเข้ามาให้ออกไป
              3. การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักสามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก หรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น


การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามพระราชดำริ "แก้มลิง"


ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง

              1. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล
              2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลอง ดังกล่าว โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
              3. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
              4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow) หลักการ 3 ประเด็น ที่โครงการแก้มลิงจะสามารถมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริคือ


              1. การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ
              2. เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ
              3. การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง
              โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างจะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ 3 โครงการ ด้วยกัน คือ


               1. โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"
               2. โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"
               3. โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"


               โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตรหมายอันเป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า "...ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..."
 ที่มา  http://www.raosoo.net/users/raosoo3/blog/?startIndex=20
สืบค้นวันที่ 25 ม.ค. 2553  เวลา 10.10 น.

กังหันน้ำชัยพัฒนา

กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย


          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากที่เกิดขึ้นนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในพื้นที่หลายแห่งหลายครั้ง ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขน้ำเน่าเสีย
          ในระยะแรกระหว่างปี พ.ศ. 2527-2530 ทรงแนะนำให้ใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยบรรเทาน้ำเสียและวิธีกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวาและพืชน้ำต่างๆ ซึ่งก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ผลในระดับหนึ่ง ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา สภาพความเน่าเสียของน้ำบริเวณต่างๆ มีอัตราแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น การใช้วิธีธรรมชาติไม่อาจบรรเทาความเน่าเสียของน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงขอพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถผลิตได้เองในประเทศ ซึ่งมีรูปแบบ "ไทยทำไทยใช้"โดยทรงได้แนวทางจาก "หลุก" ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นจุดคิดค้นเบื้องต้น และทรงมุ่งหวังที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการบรรเทาน้ำเน่าเสียอีกทางหนึ่งด้วย

          การนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการศึกษาและวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ โดยดำเนินการจัดสร้างเครื่องมือบำบัดน้ำเสียร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการผลิตเครื่องกลเติมอากาศขึ้นในเวลาต่อมา และรู้จักกันแพร่หลายทั่วไประเทศในปัจจุบันคือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา"

การศึกษา วิจัย และพัฒนา

          กรมชลประทานรับสนองพระราชดำริในการศึกษาและสร้างต้นแบบ โดยดัดแปลงเครื่องสูบน้ำพลังน้ำจาก "กังหันน้ำสูบน้ำทุ่นลอย" เปลี่ยนเป็น "กังหันน้ำชัยพัฒนา" และได้นำไปติดตั้งใช้ในกิจกรรมบำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2532 และที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2532 เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นระยะเวลา 4-5 ปี

คุณสมบัติ
           กังหันน้ำชัยพัฒนา หรือเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (Chaipattana Low Speed Surface Aerator) ซึ่งเป็น Model RX-2 หมายถึง Royal Experiment แบบที่ 2 มีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงถึง 1.2 กิโลกรัมของออกซิเจน/แรงม้า/ชั่วโมง สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างอเนกประสงค์ ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ลำห้วย ฯลฯ ที่มีความลึกมากกว่า 1.00 เมตร และมีความกว้างมากกว่า 3.00 เมตร

หลักการทำงาน

            เครื่องกลเติมอากาศ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" แบบทุ่นลอย สามารถปรับตัวขึ้นลงได้ตามระดับขึ้นลงของน้ำ ส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ โครงกังหันรูป 12 เหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.00 เมตร มีซองน้ำขนาดบรรจุ 110 ลิตร ติดตั้งโดยรอบจำนวน ซอง เจาะรูซองน้ำพรุน เพื่อให้น้ำไหลกระจายเป็นฝอย ซองน้ำนี้จะถูกขับเคลื่อนให้หมุนโดยรอบ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2 แรงม้า ระบบแรงดัน 380 โวลต์ 3 เฟส 50 เฮิร์ท ผ่านระบบส่งกำลังด้วยเฟืองเกียร์ทอรอบและ/หรือ จานโซ่ ซึ่งจะทำให้การหมุนเคลื่อนที่ของซองน้ำวิดตักน้ำด้วยความเร็ว 56รอบ/นาที สามารถวิดน้ำลึกลงไปใต้ผิวน้ำ ประมาณ 0.50 เมตร ยกน้ำขึ้นไปสาดกระจายเป็นฝอยเหนือผิวน้ำด้วยความสูงประมาณ 1.00 เมตร ทำให้มีพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างน้ำกับอากาศกว้างขวางมากขึ้น เป็นผลทำให้ออกซิเจนในอากาศละลายเข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว และในขณะที่น้ำเสียถูกยกขึ้นไปสาดกระจายสัมผัสกับอากาศแล้วตกลงไปยังผิวน้ำนั้น จะก่อให้เกิดฟองอากาศจมตามลงไปใต้ผิวน้ำด้วย อีกทั้งในขณะที่ซองน้ำกำลังเคลื่อนที่ลงสู่ผิวน้ำแล้วกดลงไปใต้ผิวน้ำนั้น จะเกิดการอัดอากาศภายในซองน้ำภายใต้ผิวน้ำจนกระทั่งซองน้ำจมน้ำเต็มที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงขึ้นตามไปด้วย หลังจากนั้นน้ำที่ได้รับการเติมอากาศแล้ว จะเกิดการถ่ายเทของน้ำเคลื่อนที่ออกไปด้วยการผลักดันของซองน้ำด้วยความเร็วของการไหล 0.20 เมตร/วินาที จึงสามารถผลักดันน้ำออกไปจากเครื่อง มีระยะทางประมาณ 10.00 เมตร และผลพลอยได้อีกประการหนึ่งได้แก่ การโยกตัวของทุ่นลอยในขณะทำงาน จะส่งผลให้แผ่นไฮโดรฟอยล์ที่ติดตั้งไว้ในส่วนใต้น้ำ สามารถผลักดันน้ำให้เคลื่อนที่ผสมผสานออกซิเจนเข้ากับน้ำในระดับความลึกใต้ผิวน้ำเป็นอย่างดีอีกด้วย จึงก่อให้เกิดกระบวนการทั้งการเติมอากาศ การกวนแบบผสมผสาน และการทำให้เกิดการไหลของน้ำเสียไปตามทิศทางที่กำหนดโดยพร้อมกัน
            เป็นที่น่าปีติยินดีเป็นล้นพ้นแก่ปวงพสกนิกรไทยทั้งมวล เมื่อเครื่องกลเติมอากาศ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรและเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์ด้วย จึงนับได้ว่าสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเป็น  "สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก"

 



วันที่สืบค้น  25  ม.ค.53  เวลา 15.25 น.




เครื่องดักหมอก

แนวคิดการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ เครื่องดักหมอก เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร


            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากหมอกที่ล่องลอยในอากาศว่าหมอกสามารถกลายเป็นหยดน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้ได้ เช่น ในกรณีหมอกปลิวมากระทบก้อนหินแล้วจับตัวเป็นหยดน้ำไหลลงสู่พื้นดิน ทำให้ต้นไม้สามารถเจริญงอกงามได้และเป็นแนวคิดที่ได้ถูกนำมาใช้ในบางประเทศอย่างได้ผล โดยในภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไปมักจะมีหมอกหนาแน่น ถ้าหากสามารถนำไอน้ำที่มีอยู่ในหมอกมาใช้ได้ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลทางด้านการเกษตรเช่น การปลูกป่า เป็นต้น



วิธีการทำเครื่องดักหมอกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


             1. ใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่ายและราคาถูก เช่น ตาข่ายไนล่อน เสื่อลำแพน ถุงปุ๋ยไนล่อน มาเป็นอุปกรณ์ทำเครื่องดักหมอก
             2. สร้างแผงขึงด้วยวัสดุดังกล่าวดักไอน้ำจากหมอก โดยวางให้ตั้งฉากกับทิศทางลมพัดซึ่งจะทำให้ดักหมอกได้ในอัตราสูง
             3. ในบางกรณีอาจสร้างขึ้นได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น บางแบบอาจติดตั้งบนกังหันลมเพื่อให้แผงดักหมอกหันสู้ลมอยู่ตลอดเวลาหรือบางครั้งแผงดักหมอกอาจทำลักษณะอ่อนตัวเพื่อมิให้แผงโค่นลืมยามลมพัดแรง
             4. ไอน้ำจากหมอกจะกระทบกับแผงดักหมอกทำให้เกิดลักษณะคล้ายหยดน้ำ  น้ำที่เกิดขึ้นสามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกป่า โดยอาจจะไม่ต้องเอาใจใส่ดูแลรดน้ำมากนักเพราะได้หยดน้ำธรรมชาตินี้ช่วยเหลืออยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้แม้ในพื้นที่แห้งแล้ง
             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมว่า...แผงดักหมอกนี้สามารถช่วยบังแดดบังลมกับต้นไม้ในระยะเวลาที่เริ่มทำการปลูกต้นไม้ หรือในระยะแรกที่ต้นไม้ หรือในระยะแรกที่เริ่มทำการปลูกต้นไม้ หรือในระยะแรกที่ต้นไม้เริ่มเติบโตขึ้นได้ด้วยส่วนวัสดุที่จะนำมาใช้ในการดักหมอกนี้ ควรจะเป็นวัสดุประเภทที่รูพรุนมากๆ เช่น ตาข่ายไนล่อน ซึ่งจะทำให้เกิดการจับตัวของหยดน้ำได้ดี อีกทั้งการใช้วัสุดที่เป็นเสื่อลำแพน การสานอย่าให้ทึบ ควรสานให้โปร่ง เนื่องจากในอากาศนั้นมีความชื้นอยู่แล้วจะทำให้เกิดการควบแน่นและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้...
              การใช้ถุงปุ๋ยมาเป็นวัสดุนั้นคาดว่าจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อหมอกมากระทบกับแผงดักหมอกนี้แล้วก็จะกระจายออกไป เพราะว่าถุงปุ๋ยมีความทึบและพื้นที่หนาแน่นมากเกินไป เครื่องดักหมอกจึงเป็นวัตกรรมรูปแบบหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์สุขแผ่นดิน เป็นแนวคิดที่แสนง่ายแต่มิมีผู้ใดคิดถึงเรื่องใกล้ตัวเช่นนี้ทัดเทียมพระองค์จึงนับเป็นพระปรีชาสามารถก็กอปรด้วยพระอัจฉริยภาพสูงส่งยิ่ง


ที่มา  http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.phpoption=com_content&view=category&layout=blog&id=63&Itemid=86
วันที่สืบค้น 25 ม.ค.53 เวลา 14.30 น.

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการฝนหลวง


โครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง"

           ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการฝนหลวงว่า โครงการฝนหลวงนี้ได้มีพระราชดำริครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2498 แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์    เทวกุล ว่าจะทรงค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือไปจากที่ได้รับจากธรรมชาติ โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์เข้ากับทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้เกิดมีศักยภาพในการสร้างฝน ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล และความอัจฉริยะของพระองค์ท่าน ซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ จึงสังเกตวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้นแล้วว่าจะทรงค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิดฝนให้ได้เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาแนวทางในการค้นคว้าทดลอง จึงได้มีการจัดตั้ง "โครงการค้นคว้าทดลองการทำฝนเทียม" ขึ้นในปี พ.ศ. 2512 และได้มีการวิจัยและพัฒนาวิธีการทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ได้ค้นพบวิธีการทำฝนเทียมแบบใหม่เป็นกรรมวิธีของประเทศไทยโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากวิธีปฏิบัติที่ใช้ในต่างประเทศ

ความสำคัญของ "ฝนหลวง"

     ฝนหลวงนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับแหล่งน้ำที่จำเป็นต้องใช้ในการเพาะปลูกสำหรับเกษตรกรในสภาวะแห้งแล้งเท่านั้น หากรวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บขนาดใหญ่ ให้มีสภาพสมบูรณ์เก็บไว้ใช้ตลอดปีอีกด้วย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะใต้ดินมีแหล่งหินเกลือครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งถ้าน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางไม่มีทางระบายออก หากมีปริมาณน้ำเหลือน้อย น้ำจะกร่อยหรือเค็มได้ นอกจากนั้นในภาวะการขาดแคลนน้ำ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำลง จนบางแห่งไม่สามารถใช้สัญจรไปมาทางเรือได้ การทำฝนหลวงจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าว ทำให้สามารถใช้สัญจรได้ดังเดิม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะในแม่น้ำบางสายถือเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าที่สำคัญ นอกจากนั้น การขนส่งทางน้ำยังเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่นอีกด้วย
น้ำจากน้ำฝนยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการผลักดันน้ำเค็มจากอ่าวไทย หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อยลงเมื่อใด น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อยขึ้น สร้างความเสียหายแก่การเกษตร และการอุปโภค บริโภคของการประปาของคนกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากจึงจำเป็นต้องมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อผลักดันน้ำเค็มมิให้หนุนเข้ามาทำความเสียหายต่อการอุปโภค บริโภคหรือเกษตรกรรม  นอกจากนั้น "ฝนหลวง" ยังได้บรรเทาภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอันเกิดจากการะบายน้ำเสียลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและขยะมูลฝอยที่ผู้คนทิ้งลงในสายน้ำกันอย่างมากมายนั้น ปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักดันออกสู่ท้องทะเล ทำให้มลพิษจากน้ำเสียเจือจางลดลงซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนมากจากขยะมูลฝอยและกระแสน้ำเสียต่างสีในบริเวณปากน้ำจนถึงเกาะล้าน เมืองพัทยาในขณะที่บ้านเมืองของเราพัฒนาไป การใช้พลังงานไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นทุกขณะ สืบเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าเนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูง จึงเป็นที่หวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ ในสภาวะวิกฤตที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้าส่งให้ผู้ใช้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งฝนหลวงสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนซึ่งใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงนับได้ว่า โครงการฝนหลวงเป็นพระราชดำริที่ทรงคุณค่าอเนกอนันต์ยิ่งนัก

กรรมวิธีในการทำฝนหลวง

        แนวความคิดในการสร้างน้ำฝน คือเมื่ออากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้น พบกับมวลอากาศที่มีความชื้นและเย็นจะทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำตกลงมาเป็นฝน การทำฝนหลวงที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันใช้วิธีการโปรยสารเคมีทางเครื่องบินตามสภาวะต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิธีตามแบบไทย เพื่อให้เกิดสภาพที่จะสร้างเป็นฝนได้โดย ขั้นตอนแรกจะเป็นการรวบรวมไอน้ำในบรรยากาศให้รวมตัวเป็นเมฆ จากนั้น จึงสร้างเมฆให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือ "เลี้ยง" ให้เจริญเติบโต จนขั้นสุดท้ายจึงเป็นการโจมตีกลุ่มเมฆเหล่านั้นให้ตกเป็นฝนในบริเวณพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานขั้นตอนการดำเนินงานไว้ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน (สร้างเมฆให้ก่อตัวขึ้น)

         การก่อกวน เป็นขั้นตอนแรกของการสร้างฝนเทียม เพื่อให้เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง โดยการใช้สารเคมีไปกระตุ้นมวลอากาศทางด้านเหนือของลมของพื้นที่เป้าหมายให้เกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเมฆ เพื่อให้เกิดกระบวนการรวมไอน้ำ หรือความชื้นเข้าสู่ระดับการเกิดก้อนเมฆ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นเมฆก้อนใหญ่ต่อไป

ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน (เร่งและช่วยให้เมฆรวมตัวกันมากขึ้น)

         การเลี้ยงให้อ้วน เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโต ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง จึงใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีและประสบการณ์ผสานกลยุทธ์ในเชิงศิลปะแห่งการทำฝนหลวงควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อตัดสินใจในการกำหนดสารเคมีฝนหลวงที่จะโปรยในกลุ่มก้อนเมฆ หรือ ปริมาณการโปรยที่เหมาะสม มิฉะนั้นแล้ว จะทำให้เมฆสลายตัวได้ สารเคมีที่โปรยจะเป็นสารที่ดูดซับความชื้นได้ดี ทำให้เม็ดน้ำในก้อนเมฆมีขนาดใหญ่ขึ้น ในขั้นตอนนี้ผลจากสารเคมีที่โปรยจะทำให้เกิดการไหลเวียนของกระแสอากาศ ทำให้เกิดการรวมตัวของเม็ดน้ำ ซึ่งการก่อตัวของเมฆที่ระดับความสูงต่างกันทำให้เกิดเมฆต่างกัน โดยเมฆไม่สามารถก่อยอดไปถึงระดับจุดเยือกแข็ง หรือที่ความสูงประมาณ18,000 ฟุต จะเรียกว่า "เมฆอุ่น" และที่ระดับ 20,000 ฟุต จะเรียกว่า "เมฆเย็น"

ขั้นตอนที่ 3 โจมตี (บังคับให้เมฆเกิดเป็นสายฝน)

         เมื่อกลุ่มเมฆมีความหนาแน่นมากเพียงพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการ "โจมตี" การปฏิบัติในขั้นตอนนี้มีจุดหมาย 2 ประการ คือ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน โดยภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย สังเกตได้ถ้าหากเครื่องบินเข้าไปในกลุ่มเมฆนี้แล้ว จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีกและกระจังหน้าของเครื่องบิน ดังนั้นขั้นตอนสุดท้ายนี้จึงความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์เป็นอย่างมากเนื่องจากก้อนเมฆที่ก่อตัวขึ้นลักษณะที่ต่างกัน ดังนั้นการโจมตีจึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับชนิดของก้อนเมฆ ในการโจมตีเมฆอุ่น จะใช้วิธีที่เรียกว่าแซนด์วิช ซึ่งจะใช้เครื่องบินสองลำ โดยเครื่องบินลำแรกจะโปรยผงโซเดียมคลอไรด์ที่ระดับ 9,000          ถึง 10,000 ฟุต และเครื่องบินอีกลำจะโปรยผงยูเรียและน้ำแข็งแห้งที่ฐานเมฆสำหรับการโจมตีเมฆเย็น มีวิธีการอยู่สองวิธี คือแบบธรรมดา และแบบซูเปอร์แซนด์วิชการโจมตีแบบธรรมดาจะใช้เครื่องบินเพียงลำเดียว ยิงพลุสารเคมี ซิลเวอร์ไอโดไดด์ เข้าสู่ยอดเมฆที่ระดับ 21,500 ฟุต อนุภาคของซิลเวอร์ไอโอไดด์ซึ่งจะเป็นแกนเยือกแข็งให้ไอน้ำเกาะ และยกตัวสูงขึ้นส่งผลให้เกิดการชักนำอากาศชื้นเข้าสู่ฐานเมฆเพิ่มขึ้น เม็ดน้ำที่เกาะกันเข้ากับผลึกน้ำแข็งก่อตัวกลายเป็นก้อนน้ำแข็งที่มีน้ำหนักมากขึ้นล่วงหล่นสู่เบื้องล่าง ซึ่งจะละลายเป็นเม็ดฝนเมื่อผ่านมาที่ฐานเมฆ  สำหรับการโจมตีแบบซูเปอร์แซนด์วิชจะเป็นการผสมผสานการโจมตีของทั้งการโจมตีเมฆอุ่นและการโจมตีเมฆเย็นแบบธรรมดาเข้าด้วยกัน ในเวลาเดียวกัน ซึ่งวิธีการนี้ จะให้มีประสิทธิภาพในการเพิ่มปริมาณน้ำฝนสูงยิ่งขึ้นการเพิ่มปริมาณฝนการเร่งการตกของฝนและเพิ่มปริมาณน้ำฝน ทำได้โดยการโปรยเกล็ดน้ำแข็งแห้งที่ใต้ฐานเมฆ เกล็ดของน้ำแข็งแห้งจะมีอุณหภูมิต่ำมาก ทำให้บรรยากาศระหว่างเมฆกับพื้นดินเย็นลง ส่งผลให้ฐานเมฆลดระดับต่ำลง ซึ่งจะเกิดฝนในทันทีหรือทำให้ปริมาณฝนตกเพิ่มมากยิ่งขึ้น และตกต่อเนื่องเป็นเวลานานรวมทั้งยังมีความหนาแน่นยิ่งขึ้นสารเคมีในการทำฝนหลวงสารเคมีที่ใช้ทำฝนหลวงทุกชนิดได้ผ่านการวิเคราะห์ทดลอง และคัดเลือกแล้วว่าไม่มีพิษตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อม ในปัจจุบันสารเคมีที่ใช้มีทั้งหมดอยู่ 8 ชนิดซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งแบบผงและสารละลาย คุณสมบัติโดยทั่วไปของสารเคมีที่ใช้จะเป็นสารที่ดูดซับความชื้นได้ดี และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเมื่อสัมผัสกับน้ำหรือความชื้น นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติเป็นแกนสำหรับการกลั่นตัวของเม็ดน้ำในอากาศซึ่งจะทำให้เกิดเป็นฝนในการทำฝนหลวงเครื่องบินในโครงการฝนหลวง เครื่องบินนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากสำหรับการทำฝนหลวง เพราะนอกจากจะต้องใช้เครื่องบินในการวิจัยแล้ว ยังต้องใช้เครื่องบินในการโปรยสารเคมีตามกระบวนการต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดฝน ดังนั้นสมรรถนะของเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นระวางในการบรรทุกสารเคมี ความเร็วในการบินไต่ระดับ ความสูงของเพดานบิน ระยะทางในการบิน และความสมบูรณ์ของเครื่องมือและอุปกรณ์การบิน จึงมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำฝนหลวง

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสถึงความยากลำบากและการเสี่ยงอันตรายจากการทำฝนหลวง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ดังนี้ ".....แต่มีวิธีที่จะทำได้เพื่อบรรเทาสถานการณ์ เช่น ทำฝนเทียม หมายความว่า ความชื้นที่ผ่านเหนือเขต เราดักเอาไว้ให้ลงได้ ปีนี้ได้ทำมากพอใช้ ทำเป็นเวลาต่อเนื่องกันไปประมาณเกือบ 3 เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ทำนั้นต้องเหน็ดเหนื่อยมาก เพราะว่าเครื่องบินก็มีน้อย อุปกรณ์ก็มีน้อย เจ้าหน้าที่ที่ทำฝนเทียมนั้นต้องเสี่ยงอันตรายมาก เพราะเครื่องบินที่มีอยู่ก็เก่าแล้ว
และชำรุดบ่อย...."

เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น

           การปฏิบัติการฝนหลวงคงจะไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าปราศจากเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยในการค้นคว้าวิจัย และการปฏิบัติงาน เครื่องมือที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นเครื่องมือทางอุตุนิยมวิทยา เพื่อใช้ในการศึกษาสภาพอากาศนอกเหนือไปจากแผนที่อากาศและภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว ยังต้องมีเครื่องมืออื่น ๆ ในการตรวจวัดสภาพอากาศ ซึ่งประกอบไปด้วย  เครื่องวัดลมชั้นบน ซึ่งจะเป็นตัวบอกทิศทางและความเร็วของลม  เครื่องวิทยุหยั่งอากาศ ซึ่งจะบอกถึงอุณหภูมิและความชื้นของบรรยากาศในชั้นต่าง ๆ เรดาห์ตรวจอากาศ ซึ่งมีทั้งแบบติดตั้งบนรถยนต์และแบบติดตั้งตายตัวที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการสั่งการผ่านซอฟต์แวร์เฉพาะสำหรับการตรวจอากาศ และนี่เอง ทำให้คอมแพคได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ด้วยการวางระบบเครื่องแม่ข่าย คอมแพค อัลฟ่าเซิร์ฟเวอร์ซึ่งใช้ในการเก็บบันทึกรวบรวมข้อมูลกลับมาแสดงใหม่จากเทปบันทึกในรูปแบบที่ทันสมัย สะดวกและรวดเร็ว จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้คณะปฏิบัติการฝนหลวงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น  สามารถที่จะทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มเมฆต่าง ๆ และเมฆกลุ่มใดที่ต้องการจะทำฝน ตลอดจนทำฝนที่ใดและสามารถคำนวณปริมาณน้ำฝนในก้อนเมฆได้ว่ามีค่าเท่าใด ควรจะใช้สารสูตรใด ปริมาณเท่าใดเหล่านี้เป็นต้น ซึ่งถึงปัจจุบันเครื่องของคอมแพคก็ทำงานอยู่ในโครงการนี้มานานเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วเครื่องมือตรวจวัดอากาศที่ผิวพื้นต่าง ๆ เช่นเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความเร็ว และทิศทางลม และเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน เป็นต้น  และนี่คือ "โครงการพระราชดำริฝนหลวง" หนึ่งในโครงการที่เราคนไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจ ให้เราคนไทยได้ตระหนักถึงการรังสรรค์คุณ

ประโยชน์เพื่อประเทศชาติ น้ำพระทัยของในหลวง

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเสมือนหนึ่งเป็นความทุกข์ของพระองค์ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ มิได้ทรงนึกแต่เพียงว่าทรงเป็นพระประมุข ของประเทศไทยโดยนิตินัย หรือตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่พระองค์ทรงระลึกอยู่เสมอว่า พระองค์เป็นคนไทย คนหนึ่งที่จะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยทุกคนทั่วประเทศ จึงทรงมีพระราชดำริ ที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรเหล่านี้ให้เกิดความ "พออยู่ พอกิน" ชาวไทย ทั้งหลายต่าง   ซาบซึ้ง และตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณ อันใหญ่หลวงของพระองค์ ที่แสดงถึงพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้น ด้วยพระเมตตาและทรงใช้พระอัจฉริยภาพ ในด้านต่าง ๆ พระราชทานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุข แก่ทุกชีวิตในประเทศไทยตลอดมา ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่จะยังความผาสุขแก่ประชาชนอย่างแท้จริง

ที่มา  http://school.obec.go.th/tsb/webtsb/rain%20k.pdf
 
สืบค้น  22  มกราคม  2553  เวลา  20.30 น.

ความสัมพันธ์ของนวัตกรรมและเทคโนโลยี

        นวัตกรรม เป็นคำที่ใช้ควบคู่กับ เทคโนโลยี เสมอๆ นวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนวัตกรรมเป็นเรื่องของการคิดค้นหรือการกระทำใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นซึ่งอาจจะอยู่ในขั้นของการเสนอความคิดหรือในขั้นของการทดลองก็ได้ ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของสังคม ส่วนเทคโนโลยีนั้นมุ่งไปที่การนำสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงาน หรือแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าหากพิจารณาว่านวัตกรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้น่าจะนำมาใช้ การนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้นี้ ก็จัดได้ว่าเป็นเทคโนโลยีด้วยและในการใช้เทคโนโลยีนี้ถ้าเราทำให้เกิดวิธีการหรือสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น สิ่งนั้นก็เรียกว่าเป็นนวัตกรรม เราจึงมักเห็นคำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ควบคู่กันเสมอ

       ยุคของสารสนเทศ ในปัจจุบันนี้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วนี่เอง ทำให้การรับรู้ข่าวสาร การสื่อสารกันเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวก ง่ายมากยิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงได้ทุกมุมโลก จึงไม่แปลกเลยที่ คนในยุคปัจจุบันจะรับรู้ข่าวสาร ติดต่อกันได้แม้ว่าจะอยู่ไกลกันก็ตาม และสิ่งนี้นี่เอง ที่ส่งผลให้ การศึกษาในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ความรู้ ความคิดต่างๆ ที่มากขึ้นนี่เองเป็นผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เทคโนโลยีจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย และยังผลต่อ ถึงสารสนเทศที่พัฒนาต่อเนื่องไปอีกนั่นเอง......


ที่มา  http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet1/network/it/index.html
สืบค้น  22  มกราคม 2553  เวลา 19.00

ความหมายของนวัตกรรมและเทคโนโลยี

นวัตกรรม

       “นวัตกรรม” หมายถึง ความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำ นวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย
        “นวัตกรรม” (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ ”การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม” แนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของนักเศรษฐอุตสาหกรรม เช่น ผลงานของ Joseph Schumpeter ใน The Theory of Economic Development,1934 โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก นวัตกรรมยังหมายถึงความสามารถในการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงอีกด้วย (พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ , Xaap.com)


ความหมายของเทคโนโลยี
 
          ความเจริญในด้านต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าทดลองประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อศึกษาค้นพบและทดลองใช้ได้ผลแล้ว ก็นำออกเผยแพร่ใช้ในกิจการด้านต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพในกิจการต่างๆ เหล่านั้น และวิชาการที่ว่าด้วยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในกิจการด้านต่างๆ จึงเรียกกันว่า "วิทยาศาสตร์ประยุกต์" หรือนิยมเรียกกันทั่วไปว่า "เทคโนโลยี" (boonpan edt01.htm)

           เทคโนโลยี หมายถึงการใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในการแก้ปัญหา ผู้ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เรียกว่านักเทคโนโลยี (Technologist) (boonpan edt01.htm)

ที่มา  http://tikkatar.is.in.th/?md=content&ma=show&id=2
 
สืบค้น  22 มกราคม 2553  เวลา 18.30 น.